เจาะลึก "วัคซีน" จาก 3 บริษัทยักษ์ แพทย์ชี้แจงไทยใช้ของชาติไหน ใครได้ฉีดก่อน ฟรีหรือจ่ายเงิน

คอมเมนต์:

แพทย์ตอบทุกคำถาม ใครมีสิทธิ์ได้ฉีดก่อน ฉีดครั้งหนึ่งอยู่ได้นานเท่าไหร่ แล้วคนไทยฉีดฟรีหรือต้องจ่ายเงิน !?

หมายเหตุ : สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ด้านล่างบทความค่ะ

        ต้องบอกเลยว่าความรุนแรงของการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว นอกจากประชาชนป้องกันตัวเองแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนกำลังฝากความหวังไว้กับ "วัคซีน" และดูเหมือนว่าเริ่มจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว และล่าสุด "ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล" รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเผยถึงความคืบหน้าของ "วัคซีน" ผ่านรายการ ถามสุดซอย

ตอนนี้สถานการณ์วัคซีนคืบหน้าอย่างไร ?

 

Sponsored Ad

 

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ตอนนี้วัคซีนก็เป็นความหวังของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เรื่องการระบาดก็ระบาดไปหลายพื้นที่แล้ว คิดว่าวัคซีนก็เป็นคำตอบสุดท้ายอันหนึ่งที่จะช่วยตรงนี้ ก็กราบเรียนว่ามีหลายบริษัทมากที่ทำวัคซีนตรงนี้ขึ้นมา"

อยากให้ช่วยอธิบาย ไฟเซอร์, โมเดิร์นนา, แอสตร้าเซนเนก้า ใครทำ แล้วได้ไปฉีดบ้างหรือยัง ฉีดได้ผลไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ต้องพูดให้ชัดว่าวัคซีนคือตัวช่วยป้องกันโรค ไม่ใช่สำหรับแก้หรือรักษา ใช้สำหรับคนที่ยังไม่เป็น ป้องกันไม่ให้เขาติด ผมคิดว่าก็เป็นที่สนใจของหลายประเทศ หลายบริษัททั่วโลก อย่างที่หนึ่งที่ผลิตออกมาแล้ว และได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ตัวแรกเรียกว่า วัคซีนบริษัทไฟเซอร์ เป็นของสหรัฐอเมริกา ตัวที่สองไล่ตามมาคือ บริษัทโมเดิร์นนา ก็เป็นของสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน อันที่สามที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นของอังกฤษ คือ แอสตร้าเซนเนก้า เพิ่งได้รับการรับรองจาก อย. อังกฤษ ไปเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็คิดว่าเขาคงเริ่มใช้ในอังกฤษในเดือนมีนาคมนี้ ก็มี 3 บริษัทที่ค่อนข้างก้าวหน้าและทำการศึกษาในคนเรียบร้อยแล้ว"

 

Sponsored Ad

 

ถ้าเริ่มจากไฟเซอร์ อเมริกาเป็นคนทำ ตอนนี้เขาเริ่มเอามาฉีดหรือยัง ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "หลักล้านโดสแล้วที่ฉีดให้กับประชาชนของสหรัฐอเมริกา ผลก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ผลที่ทำการศึกษาจากการทดลองในคนและสัตว์ทดลอง ประสิทธิผลก็มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ผลข้างเคียงยังไม่มาก ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง"

 

Sponsored Ad

 

มีหลายคนบอกว่าเห็นภาพที่หลุดออกมาจากโซเชียล ฉีดปุ๊บล้มตึงไปเลย ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "วัคซีนก็เหมือนสิ่งแปลกปลอมอย่างหนึ่งที่ฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ บางทีอาจเกิดปฏิกิริยาได้ อย่างที่เห็นเป็นลมก็เป็นปฏิกิริยาเฉพาะ พอเราเห็นความเจ็บปวด บางทีไปกระตุ้นก็มีอาการได้เหมือนกัน แต่จากการศึกษาในมนุษย์ ผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้แต่ไม่มาก ส่วนผลข้างเคียงชนิดที่รุนแรง ทำให้เสียชีวิตก็น้อยมาก วัคซีนมันเร่งผลิตและเร่งใช้มากเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ฉะนั้นก็ต้องดูผลระยะยาวต่อไปเช่นเดียวกัน แต่ ณ ปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย"

 

Sponsored Ad

 

ไฟเซอร์ที่ฉีดที่อเมริกา ป้องกันได้จริงไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "จากการศึกษาในมนุษย์หลักหมื่น ป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 ก็ถือว่าสูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เพราะองค์การอนามัยโลกกำหนดแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ นี่ก็เกิน 90 เปอร์เซ็นต์"

ราคาสูง ?

 

Sponsored Ad

 

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เนื่องจากเขาใช้ในประเทศค่อนข้างร่ำรวย ราคาก็ค่อนข้างสูง แต่เมื่อมีนโยบายเอามาใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศไม่มีรายได้สูงนัก ผมว่าราคาอาจลดลง อาจจะหลักไม่กี่ร้อยก็ได้ อันนี้ต้องติดตาม"

คนไทยจะได้ฉีดไฟเซอร์ไหม ?

 

Sponsored Ad

 

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "รัฐบาลคงต้องเจรจา แต่ไฟเซอร์ไม่ใช่บริษัทแรกที่รัฐบาลเจรจา บริษัทแรกที่เจรจาคือ แอสตร้าเซนเนก้า ได้ตกลงและสั่งจองวัคซีนเรียบร้อยแล้ว"

เพราะอะไรถึงเลือกบริษัทนี้ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "แอสตร้าเซนเนก้ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลาย ๆ บริษัทเอกชนของเราเหมือนกัน บริษัทเอกชนหลายที่ก็ช่วยรัฐบาลตกลงทำสัญญา และเรามองข้อดีว่าเราไม่ได้สั่งซื้ออย่างเดียว เรายังให้เขาถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนให้กับเราด้วย ซึ่งก็มีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ รับถ่ายทอดมาแล้ว จะผลิตวัคซีนให้คนไทยของเราเองด้วย เราสั่งมาประมาณ 13 ล้านคน 26 ล้านโดส เป้าประสงค์ของรัฐบาลยังน้อย เราต้องครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย 1 คน ใช้ 2 โดส ถ้า 50 เปอร์เซ็นต์อย่างน้อยต้อง 30 กว่าล้าน แปลว่าเราต้องอาศัยทางอื่นด้วย เช่น ผลิตวัคซีนโดยบริษัทคนไทยเอง ครอบคลุมประชากรไทยให้มากขึ้น"

Sponsored Ad

วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าได้ผลมากน้อยแค่ไหน ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "จากตัวเลขที่ทำการศึกษาในสัตว์ทดลองและมนุษย์ ประสิทธิผลค่อนข้างต่ำกว่าไฟเซอร์ ประสิทธิผลจะอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ไฟเซอร์เขาประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะชนิดและวัคซีนคนละประเภทกัน การตอบสนองในแง่ภูมิคุ้มกันอาจไม่เหมือนกัน"

ราคาเป็นยังไง ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "แอสตร้าเซนเนก้าจะถูกกว่า เขาใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตได้จำนวนมาก และเขามีความประสงค์จะช่วยประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราด้วย เลยกำหนดราคาไม่สูงนัก"

ราคาเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยเลือกแอสตร้าเซนเนก้าด้วยหรือเปล่า ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่าคือเขาจะถ่ายทอดเทคโนโลยีบางอย่างให้กับเราด้วย ซึ่งผมว่าตรงนั้นเป็นความยั่งยืนที่เราจะผลิตวัคซีนได้เอง หรือเป็นแนวทางในการผลิตวัคซีนในอนาคตตัวต่อ ๆ ไปด้วย"

การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้คนไทยผลิต ยังป้องกันได้ไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ผมเชื่อว่าคนไทยเราก็ไม่ได้ด้อยกว่านะ สยามไบโอฯ มาตรฐานเขาสูงมากในการผลิต ทั้งแง่ประสทธิภาพและในแง่ความปลอดภัยด้วย ผมเชื่อว่าวัคซีนก็ไม่น่าเป็นปัญหา ถ้าเขาได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา แต่เรามองไปถึงอนาคตด้วย เราจะได้แนวทางบางอย่าง เผื่ออนาคตมีโรคอย่างอื่น เราก็มีแนวความคิด ความรู้ในการผลิตวัคซีนเพื่อช่วยเหลือประชากรเราเอง ซึ่งตรงนี้มีประโยชน์ และคิดเป็นมูลค่าไม่ได้"

โมเดิร์นนา จากที่ไหน ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เป็นของสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน เป็นคล้าย ๆ เทคโนโลยีคล้าย ๆ ไฟเซอร์ แต่มีข้อแตกต่างคือ วัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บที่ -70 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ของโมเดิร์นนานี่ -20 องศาฟาเรนไฮต์ ก็เก็บได้ อาจเป็นข้อดีตรงนี้ว่าการเก็บวัคซีน การนำไปฉีดก็ค่อนข้างสะดวกกว่า ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไฟเซอร์"

อันที่เราติดต่อคุยกันจากจีน ชื่อ ซิโนแวค ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ของจีนต้องยอมรับว่าเขาอาจไม่ได้ศึกษามายาวนานเท่า 3 บริษัทแรก แต่จีนเขาขออนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ข้อมูลความปลอดภัยระยะยาวอาจไม่มากเท่าวัคซีน 3 บริษัทที่กล่าวถึงตอนต้น รัฐบาลเห็นว่าเราจำเป็นต้องได้วัคซีนเร่งด่วน 3 บริษัทนั้นไม่สามารถเร่งด่วนได้ เราเลยขอความช่วยเหลือจากทางจีน เขาก็ยินดีจะส่งให้ประมาณเดือนหน้า กุมภาพันธ์ แต่มาเป็นล็อต ๆ กุมภาพันธ์สัก 2 แสนโดส มีนาคมอีก 8 แสน เมษายนอีก 1 ล้าน รวมแล้ว 2 ล้านโดส ที่รัฐบาลเราได้ไปตกลงกับบริษัทซิโนแวคไว้"

ล็อตแรกรวมเบ็ดเสร็จ 2 ล้านโดส แล้วซิโนแวคเขาทดลองฉีดให้ใครไปแล้ว ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เขาทดลองฉีดในคนไปแล้ว แต่ระยะเวลาในการติดตามอาจไม่ยาวเท่า 3 บริษัทแรก เนื่องจากจีนเขาก็เร่งเพื่อให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่ฉีดไปก็ดี ประสิทธิผลค่อนข้างดี ใกล้เคียงกับ 3 บริษัทแรก ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน"

2 ล้านโดสแรกในเดือนหน้า ใครจะได้ฉีดก่อน ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ผมคิดว่าตอนนี้รัฐบาลก็ยึดมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ว่ากลุ่มบุคคลไหนควรได้ก่อน ถ้าได้พอคงให้ทุกท่าน เพียงแต่ว่าพอเป็นอย่างนี้ต้องมาพิจารณาว่าใครควรได้ก่อน แต่ที่ตั้งใจไว้คือ กลุ่มผู้สูงอายุ อายุเกิน 60 ปี เพราะถ้าติดแล้วกลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรง เราคงต้องให้ก่อน"

ในบรรดาสูงอายุเลือกยังไง ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "คนที่มีโรคประจำตัว หัวใจ เบาหวาน ก็มีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนค่อนข้างเยอะ ก็ต้องพิจารณาให้กลุ่มพวกนี้ก่อน อีกกลุ่มคือ บุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มที่ต้องทำงานคัดกรองมีโอกาสสัมผัสกับคนติด ก็จำเป็นต้องให้ก่อน เพราะเขามีความเสี่ยงสูงในการติด"

ฟรีไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ผมเข้าใจว่ารัฐบาลน่าจะให้ฟรี เพราะเป็นนโยบายช่วยเหลือป้องกันประชากรไทยโดยไม่คิดมูลค่า"

หลังจาก 2 ล้านโดส เราติดต่อจากโคแวกซ์ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "โคแวกซ์นี่เป็นพันธมิตร เป็นมูลนิธิจัดตั้งซัพพอร์ตโดยองค์การอนามัยโลก คือมีเงินทุนที่บริจาคมาสัก 2 พันกว่าล้านเหรียญยูเอสดอลลาร์เลย เป็นการระดมเพื่อให้ได้วัคซีนมาในการแจกจ่ายให้ประเทศกำลังพัฒนาอยู่สัก 90 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในลิสต์นี้ด้วยที่จะมีโอกาสได้รับวัคซีนจากโคแวกซ์"

เราต้องซื้อไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ถึงจะเสียค่าวัคซีนบ้างก็คงเป็นในราคาที่ถูกมาก เพราะต้องการช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนได้เท่าไหร่รัฐบาลยังไม่ได้เปิดเผย เพราะขึ้นอยู่กับโคแวกซ์ในการจัดสรร เพราะมีหลายประเทศมาก และการตกลงกับรัฐบาลไทยว่าได้เท่าไหร่ ตัวเลขยังไม่ได้เปิดเผยมา น่าจะทยอยเข้ามา"

ราคายังไม่ได้กำหนด ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ทางรัฐบาลไม่ได้แจ้งมา แต่ก็คิดว่าถึงจะคิดก็คิดในราคาค่อนข้างถูก เพื่อให้ประชากรไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนทั่วถึง"

เห็นบอกว่าโดสหนึ่งมี 7,000-8,000 บาท ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ไม่น่าถึง คิดว่ารัฐบาลคงมีการต่อรอง ถ้าสยามไบโอฯ ผลิตเองได้ ราคาก็น่าจะถูกลงด้วย ถ้า 7-8 พัน คงลำบาก รัฐบาลก็เข้าใจและเห็นปัญหานี้ คงต้องหาทางทำไงให้ราคาถูก ที่ประชากรไทยจะได้รับอย่างทั่วถึง"

สรุปจ่ายเงินหรือฉีดฟรี ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "คงต้องหารือกัน แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเริ่มต้นโดยการไม่คิดมูลค่า แต่เท่าไหร่ก็ต้องหารือกับทีมกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง"

1 คนต้องฉีดกี่โดสถึงป้องกันได้ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "2 โดสครับ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ก็อยากย้ำเตือนว่าอย่าเข้าใจผิดว่าการฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันได้ทันที ท่านต้องได้รับ 2 โดสอย่างน้อย ถึงจะป้องกันได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วถึงท่านได้รับวัคซีนไปแล้วเข็มแรก ท่านยังต้องมีมาตรการป้องกันตัวเหมือนเดิม อันนี้เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าฉีดวัคซีนแล้วไปลุยได้แล้ว มันไม่ได้ เพราะต้องรอเวลาให้ภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อน"

พอครบ 2 โดส มั่นใจได้ไหมว่าจะไม่เป็น ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ต้องกราบเรียนตรง ๆ ว่าถ้าบอกระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันขึ้นถึงก็ส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สอง ต้องยอมรับว่าแต่ละคนตอบสนองวัคซีนไม่เท่ากัน นโยบายหนึ่งต้องติดตามดูภูมิคุ้มกันแต่ละท่านด้วยนะว่าขึ้นถึงระดับเท่าไหร่ ที่เราพูดคือภาพรวมโดยเฉลี่ย แต่ละบุคคลย่อมไม่เท่ากัน เหมือนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ บางคนก็ดี แต่บางคนป้องกันได้ไม่มากนัก ก็แล้วแต่คนด้วย"

มีจากอีกหนึ่งวัคซีนที่มาจากมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมารับบริจาคทุนคนละ 500 บาท ขอบริจาค 1 ล้านทุน เพื่อไปพัฒนาวัคซีน ไปถึงไหนแล้ว ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "อันนี้เป็นวัคซีนผลิตโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม เป็นบริษัทสตาร์ตอัปพัฒนามาจากทีมอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้พัฒนาโปรตีนจากพืช เอาใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลียมา และใส่สารบางส่วนไปกระตุ้นให้ใบยาสร้างโปรตีนบางอย่างขึ้นมา และเอาตัวนี้สกัดเป็นวัคซีน เพื่อกระตุ้นร่างกายมนุษย์ให้สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองได้ผลดีมาก ทั้งหนู ลิง สัตว์ใหญ่ ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมาก ไม่ได้ด้อยกว่าวัคซีนอื่น ๆ ที่พูดถึงเลย ตอนนี้ก็เตรียมนำมาทดลองในคน ภายในเดือนหน้าจะเริ่มทดลองเฟส 1, 2, 3 ถ้าผ่านเฟส 3 ได้จะขออนุมัติ อย. เพื่อมาใช้ในประชากรไทย ซึ่งคาดว่าถ้าเป็นไปตามแผน ปลายปี 2564 นี่แหละที่น่าจะมีวัคซีนตัวนี้ออกมาด้วย"

ตอนที่เขาทดลองปลอดภัยได้ผล เราจะฉีดไปครบหมดหรือยัง ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เราก็หวังว่าจะไม่ถึงขนาดนั้น เขาก็เร่งผลิตกันเต็มที่ แต่มันต้องเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยด้วย บางขั้นตอนคงเร่งไม่ได้ เพื่อให้ได้มาตรฐานสูงสุดจริง ๆ อันนี้เป็นวัคซีนที่ทำโดยคนไทย ของคนไทย เพื่อคนไทย"

ถ้าได้ผลจะยอดเยี่ยมมาก เราไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ถูกต้องครับ รัฐบาลก็เริ่มหันมาสนับสนุนแล้ว และที่เราหวังให้ประชาชนไทยบริจาคคนละ 500 บาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาและผลิตวัคซีนตัวนี้ ซึ่งจะกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญ คิดว่าจะมีประโยชน์กับประเทศไทยระยะยาวจริง ๆ"

วัคซีนที่ฉีดจะป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ แต่เชื่อว่าวัคซีนที่ผลิตขึ้นมากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีอยู่ ไม่ว่าจะกลายพันธุ์ไปสายพันธุ์ไหนก็ตาม เพียงแต่ว่าอนาคตต้องจับตาดูเหมือนกันว่าการกลายพันธุ์จะมีผลไหม แต่ปัจจุบันจากข้อมูลยังไม่มีผล การตอบสนองภูมิคุ้มกันเหมือนกัน"

ฉีดทีหนึ่งอยู่ได้นานเท่าไหร่ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "อันนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก แล้วไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะวัคซีนต้องรีบออกมาใช้ เขาก็เลยติดตามในช่วงเวลาไม่นาน แต่คิดว่าป้องกันได้เป็นปี ส่วนจะกี่ปีก็อยู่ที่เชื้อตัวนี้กลายพันธุ์เร็วแค่ไหน ถ้ากลายพันธุ์เร็วก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เราเจอเหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่สามารถฉีดเข็มเดียวแล้วป้องกันได้ตลอด ต้องมาฉีดทุกปี เพราะเชื้อมีการกลายพันธุ์ในระยะยาว ในอนาคตคงต้องระวังว่าวัคซีนที่เราผลิตจะป้องกันได้นานแค่ไหน เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามหาคำตอบอยู่"

ทำไมเราได้ช้า สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม อินโดฯ รอบ ๆ ตัวเราเขาฉีดไปหมดแล้ว ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "คิดว่าเพราะสถานการณ์ในบ้านเราควบคุมได้ดีในระดับหนึ่ง ทำให้ความเร่งรีบ หลาย ๆ บริษัทเขาก็มองดูข้อมูลการเจ็บป่วยหลาย ๆ ประเทศด้วย อย่างของเราตัวเลขค่อนข้างต่ำมาก ตอนแรกนะครับ เขาเลยไม่ได้จัดอันดับเราไว้ในตอนต้น ๆ แต่คิดว่าคงเป็นการเจรจาตกลงกับภาครัฐและบริษัทเขาด้วย"

ลาว เวียดนาม เขาได้วัคซีนจากที่ไหน ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เข้าใจว่าลาวได้จากจีน คงเป็นการมีความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐบาลหรือเปล่า เวียดนามได้จากหลายประเทศที่เข้ามาช่วย ลาวนี่เท่าที่ดูข้อมูลก็ไม่ได้ฉีดทุกคน เพราะถ้าเขาได้ทั้งหมดต้องเป็นจำนวนหลายสิบล้านโดส ตอนนี้เข้าใจว่าไม่ถึง คนลาวได้แค่ส่วนหนึ่งของประชากรที่ได้วัคซีนจากจีน"

อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน สวิตฯ ได้ฉีดกันหมดแล้ว ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ต้องใช้เวลาในการครอบคลุม เนื่องจากหลายประเทศฝั่งตะวันตกเขาซีเรียสเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก มีหลายคนที่ไม่อยากได้วัคซีน ในอเมริกามีคนไปทำสำรวจ พบว่าเกือบร้อยละ 40 ของประชากรไม่อยากได้วัคซีน เพราะบางคนมองว่ามีผลข้างเคียงบางอย่างที่เขากังวลอยู่ และเขาก็มีความรู้ดีว่าวัคซีนเป็นเรื่องการอนุมัติในช่วงค่อนข้างฉุกเฉิน ข้อมูลบางอย่างยังไม่ครบถ้วน บางคนก็กังวลและไม่อยากได้วัคซีนก็มี คำว่าได้ทั้งหมดคงไม่น่าจะจริง"

ถ้าได้วัคซีนมา คุณหมอจะฉีดไหม ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ผมขอศึกษาให้มากกว่านี้ และดูผลข้างเคียงบางอย่าง ผลข้างเคียงระยะยาวยังไม่มั่นใจ แต่ผลข้างเคียงระยะสั้นค่อนข้างมั่นใจ แต่แน่นอนโรคบางอย่างบางทีไม่ได้เกิดจากการได้รับวัคซีนเดือนสองเดือน บางทีเกือบปี ส่วนตัวอยากขอดูข้อมูลให้เกิดความหนักแน่นสักหน่อยก่อน เพราะการป้องกันส่วนตัว สุขอนามัยส่วนตัว ยังเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าวัคซีน"

มีโรงพยาบาลเอกชนบางโรงพยาบาล เปิดให้ประชาชนจองวัคซีนราคาสูงมาก ทำไมเขาทำได้ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "น่าจะเป็นการตกลงกับบริษัทต่างประเทศเองของ รพ. เอกชน แต่ที่ต้องเตือนนิดหนึ่ง ตราบใดที่วัคซีนได้ถูกรับรองจากต่างประเทศ แต่นำมาใช้ในเมืองไทย ก็ต้องได้รับการรับรองจาก อย. ก่อนนะ ไม่ใช่ว่าได้มาแล้วฉีดได้เลย ต้องผ่านการรับรองจาก อย. ก่อนเช่นเดียวกัน"

ล่าสุดมีข่าวว่าสายพันธุ์จากอังกฤษเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้ว ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เริ่มมีรายงานแล้ว จากการตรวจเชื้อมีลักษณะพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่อยู่ในอังกฤษ เชื่อว่าน่าจะมีการกลายพันธุ์ไปแล้วสำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศไทย"

มีการขยายพันธุ์หรือติดเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อินเดีย ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ข้อมูลเบื้องต้นเขาไปศึกษาตัวโครงสร้าง พบว่าสายพันธุ์ในประเทศอังกฤษมันเกาะเยื่อบุตรงทางเดินหายใจได้ดี ทำให้เข้าในเซลล์ได้เร็วขึ้น และเพิ่มจำนวนได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องรอข้อมูลยืนยันอีกที นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สงสัยว่าทำให้มีปริมาณมากขึ้น และแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น"

การโตเร็วจะส่งผลเสียต่อประเทศ ผู้ติดเชื้อจะมากขึ้นรวดเร็ว ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ที่เราเป็นห่วงตอนนี้คือมีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการอยู่เยอะ ไม่มีอาการไม่ได้บอกว่าไม่แพร่เชื้อนะ แล้วถ้ามีเชื้อสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มปริมาณเชื้อในร่างกายจะเยอะ และมีแนวโน้มแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น ผมว่านี่ก็เป็นสิ่งที่เราได้พบจากการติดตามคนไข้มาจำนวนมากพอสมควร"

แล้วเราจะควบคุมยังไง ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เราคงรอวัคซีนไม่ได้ มาตรการป้องกันส่วนตัว สุขอนามัยส่วนตัว ยังเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องการรักษาระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย การดูแลความสะอาดมือ การไม่กินของร่วมกัน ยังเป็นมาตรการสำคัญที่เราละเลยไม่ได้"

อาการแตกต่างกันไหมแต่ละสายพันธุ์ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "ณ เวลานี้เชื่อว่าอาการไม่แตกต่างกัน อาจมีบางอย่างเด่นมากน้อยต่างกัน อย่างไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น เรายังแยกไม่ได้ว่าเป็นสายพันธุ์ชนิดนี้หรือเปล่า"

ตัวหนึ่งที่เป็นตัวแพร่เชื้อคือ มือจับลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ จะป้องกันยังไง ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "เป็นเรื่องการล้างมือเรา การใช้แอลกอฮอล์เจล เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คงต้องยอมรับว่ามีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ว่าเชื้อพวกนี้อยู่ในวัตถุต่าง ๆ ได้สักระยะหนึ่งเลย ยิ่งมีความชื้น อากาศเย็น ดังนั้นมันไว้ใจไม่ได้ การปนเปื้อนของวัตถุพวกนี้ก็มีโอกาสถ่ายทอดมาให้เราได้ เรื่องการดูแลความสะอาดมือเป็นสิ่งจำเป็น และการทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ ก็จำเป็น"

รวมทั้งการหยุดเชื้อ อยู่บ้าน เพื่อชาติ ?

        ศ.นพ.ดร.นรินทร์ : "อยู่บ้านก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน การใส่หน้ากากอนามัยก็มีความจำเป็น อยู่บ้านแล้วมาชุมนุมเยอะ ๆ ก็มีความเสี่ยง หรือการดูแลความสะอาดมือ ไม่กินของร่วมกันก็เป็นสิ่งจำเป็น ไม่งั้นจะติดภายในบ้านเรือนของท่าน ก็ต้องระวัง"

ชมคลิป

คลิปเปิดไม่ออก >>> กดตรงนี้ คลิ๊ก !!!! <<<

ที่มา : รายการ ถามสุดซอย

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ